วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

THE EVOLUTION OF PACKAGING DESIGN

วิวัฒนาการการออกแบบบรรจุภัณฑ์
THE  EVOLUTION  OF  PACKAGING  DESIGN

วิวัฒนาการของการออกแบบบรรจุภัณฑ์  หรือการบรรจุหีบห่อ  เริ่มกระทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อใดนั้น  คงจะหาคำตอบที่แน่นอนได้ยาก  แต่ถ้าหากจะสันนิษฐานตามหลักฐานและ  สัญชาติญาณการเรียนรู้ของมนุษย์  นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาในเรื่องของการคิดค้นและการแก้ปัญหาเพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนย้ายวัตถุมวลสาร  (CREATED  TO  MAKE  TRANSPORTTATION  EASIER)  แล้วอาจกล่าวเป็นเหตุเป็นผล  แห่งวิวัฒนาการของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น
 
เมื่อมนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องบริโภคน้ำ  และอาหารเพื่อดำรงชีพของตนเอง  สิ่งแรกที่เป็นอุปกรณ์ช่วยนำพาอาหารเข้าสู่ปากได้ก็คือมือ  เช่นใช้อุ้งมือรองรับ  หยิบ จับเอาอาหาร  แต่ถ้าเกิดความต้องการที่มากขึ้น  อุ้งมือทั้งสองข้างก็ไม่สามารถสนองความต้องการได้  ดังนั้นมนุษย์จึงเริ่มมีการเรียนรู้และคิดค้น  เพื่อแก้ปัญหาขึ้น  ด้วยการมองหาวัสดุที่มีอยู่รอบกายที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอุ้งมือเช่นเป็นแอ่ง  หลุมหรือลักษณะใกล้เคียงและมีพื้นที่การรองรับได้มากกว่า  สะดวกกว่า  เข้ามาเป็นอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้ายนำพาอาหารหรือวัตถุที่ต้องการ  เช่น  ใบไม้  เปลือกไม้  เปลือกหอย  กระบอกไม้  กระเพราะสัตว์  หนังสัตว์  ฯลฯ  เป็นต้น  การรู้จักการแก้ปัญหาด้วยการนำเอาวัตถุดิบ  (RAW  MATERIALS)  จากธรรมชาติเข้ามาเป็นอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้ายวัตถุมวลสาร  การกระทำดังกล่าวจึงนับว่าเป็นที่มาของบรรจุ  (FILLING)

ต่อมาเมื่อมนุษย์มีเวลาว่าง  และความต้องการมากขึ้นก็เริ่มให้ความสนใจกับเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้  ด้วยการนำมาขัดเกลา  ตกแต่งประดิดประดอยเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับการจับ  ถือ  หิ้วหรือหาบคอน 
ไม่ให้เป็นที่ระคายเคืองต่อสรีระร่างกาย และสามารถอำนวยความสะดวกสบายแก่การเคลื่อนย้ายวัตถุมวลสารมากขึ้น  เช่น  การรู้จักเย็บกระทงจากใบไม้  รู้จักการนำเอาเถาวัลย์  กิ่งไม้  ใบหญ้า  มาขัด  สาน  ทอ  ขึ้นเป็นกระจาด  ตะกร้า  ชะลอม  และรู้จักการนำเอาหนังสัตว์มาพับ  เย็บ  มัดห่อหุ้ม  พืชพันธ์ธัญญาหาร  จากการที่มนุษย์ในสมัยก่อนรู้จักการประดิษฐ์  คิดค้นภาชนะบรรจุ  ด้วยการดัดแปลงคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุธรรมชาติให้มีรูปร่างและหน้าที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นนี่เอง  จึงจัดว่าเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน (PRIMITIVE  PACKAGING  DESIGN)  ที่มนุษย์ในสมัยก่อนได้กระทำขึ้
นตามสภาพการเรียนรู้และการค้นพบวัสดุในแต่ละยุค

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า  มนุษย์เผ่าพันธุ์แรกที่รู้จักการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นพวกแรกคือ  มนุษย์โครมันยอง (CROMAGNON)  ซึ่งมีอายุอยู่ในราว  10,000-20,000  ปี ก่อนคริสตกาล  มนุษย์พวกนี้ทำให้เกิดระบบการผลิตและแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกันขึ้นมา  ในระยะแรกก็อาจจะเริ่มขึ้น
เฉพาะในหมู่ญาติมิตรหรือกลุ่มชนที่อยู่ใกล้เคียง  ต่อมาเมื่อการดำรงชีพเปลี่ยนแปลงไป  ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็ทำให้ขนาดของชุมชนเปลี่ยนสภาพเป็นหมู่บ้าน  กลายเป็นเมือง  และจากเมืองกลายเป็นประเทศที่ขยายอาณาเขตกว้างไกลออกไป  รูปแบบการผลิตและการแลกเปลี่ยนธรรมดาจึงพัฒนาขึ้นเป็นระบบการผลิตเพื่อ  การค้าและการบริการ  (PRODUCTION  OF  GOODS  AND  SERVICE)  หรือระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม  (MASS  PRODUCTION)  เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการด้านการอุปโภคบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ  ดังนั้นการขนส่ง  การบรรจุสินค้าและพัฒนารูปแบบสิ่งห่อหุ้มผลิตภัณฑ์จึงได้รับความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ  มีการคิดค้นรูปแบบบรรจุภัณฑ์ขึ้นตามกาลเวลาและความก้าวหน้าทางวัตถุที่ค้นพบ  ดังเช่นจากหลักฐานที่ปรากฏว่าการทอผ้าและการผลิตเครื่องปั้นดินเผาถูกค้นพบและใช้เป็น
บรรจุภัณฑ์มาเมื่อประมาณ  8,000  ปีก่อนคริสตกาลและหลังจากนั้นไม่นานภาชนะเครื่องแก้วอย่างหยาบ ๆ ก็ถูกค้นพบ  โลหะ  ค้นพบราวปลายยุคหิน  และการรู้จักสร้างหีบไม้ถังไม้  ลังไม้  ก็เริ่มมีการใช้ในยุคของกรีกและโรมันเป็นต้นมา
 

การออกแบบบรรจุภัณฑ์  จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการบริการในฐานะของสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งสินค้า  (AID  TRANSPORTATION)  โดยทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานอันดับแรกคือ ปกป้อง  คุ้มครองสินค้าให้ปลอดภัยจากความเสียหาย  อันเนื่องมาจากการกระทบกระเทือน และป้องกันสิ่งปนเปื้อนที่ไม่พึงประสงค์  (TO  PREVENT  SPILLAGE  AND  CONTAMINATION)  ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งสินค้าผลิตภัณฑ์จากโรงงานผลิตไปจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค  ซึ่งบทบาทนี้ก็มีผลทำให้รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ () มีการพัฒนาขึ้นรองรับ  มีการออกแบบภาชนะบรรจุแบบปิด  (CLOSED  CONTATNER)  เช่น  ถังไม้  (BARREL)  การรู้จักปิดผนึกบรรจุภัณฑ์  (CONTAINER  CLOSURE)  เช่น  มีฝาจุกปิดขวด  (BOTTLE  PLUG  SEALS) ฯลฯ  เป็นต้น  เทคนิคและกรรมวิธีการบรรจุที่พัฒนาขึ้นตามหน้าที่ใช้สอยเหล่านี้  จึงเป็นผลทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายลักษณะตามกาลเวลา  และการค้นพบวัสดุหรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้

------------------------------------------------------------------
ความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อการแข่งขันทางการตลาด

อัตราแข่งขันด้านการค้าขายในภาวะเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน นับวันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นภาวการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดทั้งมีการคิดค้นกลยุทธ กลวิธีทางการตลาดขึ้นมาอย่างมากมาย โดยมีจุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกัน คือการได้มาซึ่ง “ความสนใจจากลูกค้า” และเงินตรา ฐานะความร่ำรวยทางเศรษฐกิจในที่สุด

ด้วยเหตุดังกล่าว บรรจุภัณฑ์จึงได้รับความสำคัญขึ้นมาเป็นอย่างมากและเป็นองค์ ประกอบหลักที่ผู้ผลิตนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับการแข่งขัน ซึ่งถ้าเปรียบตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มีฐานะเป็นพระเอก (The Leader) บรรจุภัณฑ์ก็เปรียบเสมือนพระรอง (The Subordinate) (ประชิด ทิณบุตร, 2531) ที่นำมาเน้นย้ำการบริการด้วยตนเอง (Self Sevice) เป็นผู้ช่วยขายผลิตภัณฑ์เพราะสามารถแสดงตัวหรือตราสินค้า (Brand Name) ต่อผู้ใช้ประจำได้อย่างรวดเร็วและยังพยายามที่จะจูงใจผู้ที่ไม่เคยใช้ให้เกิดความคิด ความสนใจ อยากที่จะทดลองใช้เป็นครั้งแรกอีกด้วย ดังนั้นสินค้าและบรรจุภัณฑ์จึงเป็นของคู่กันมาตลอด ยิ่งสินค้าผลิตภัณฑ์มีการคิดค้นแข่งขันกันมากเท่าใด การบรรจุภัณฑ์ก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นตามไปมากเท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า บรรจุภัณฑ์มีความสำคัญสำหรับสินค้าและการตลาดอย่างจะขาดซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้ เพราะบรรจุภัณฑ์ได้แสดงบทบาทและหน้าที่ในการตลาด ดังต่อไปนี้คือ

1. การบรรจุและการคุ้มครองป้องกัน (Containtment and Protection)บรรจุภัณฑ์ซึ่งประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเอื้ออำนวยต่อการบรรจุและการคุ้มครอง ซึ่งภาชนะบรรจุจะต้องได้รับการออกแบบให้สามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์จากความเสียหาย เนื่องจากการขนส่ง ป้องกันการเน่าเสีย เก็บรักษาง่าย ไม่เสื่อมสลายไวเพราะผู้บริโภคไม่ต้องการที่จะได้รับอันตรายจากอาหารเป็นพิษหรือบาดแผลอันเนื่องมาจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เรียบร้อยสมบูรณ์

2. การบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Identification) บรรจุภัณฑ์ต้องแสดงให้เห็นตัวผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคในทันที โดยการใช้ชื่อการค้า (Trade Name เครื่องหมายการค้า (Trademark) ชื่อผู้ผลิตลักษณะและประเภทของสินค้า เข้ามาเป็นเครื่องมือบ่งชี้เพราะผู้บริโภคต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปทรงเด่นชัดมองหาได้ง่ายตัวอักษรจึงควรมีขนาดพอเหมาะ อ่านง่าย สีที่ใช้ก็ควรให้เด่นหรือแตกต่างกัน ซึ่งนอกจากจะง่ายต่อการจดจำแล้วยังช่วยลดความผิดพลาดในการหยิบฉวยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการ ทั้งของร้านค้าปลีกและผู้บริโภคได้ดีอีกด้วย

3. การอำนวยความสะดวก (Convenience) ในแง่ของการผลิตและการตลาดนั้นบรรจุภัณฑ์ต้องเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งและการเก็บรักษาในคลังสินค้า ซึ่งต้องมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถที่จะวางซ้อน (Stacking) ทับกันได้หลายชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่ ในระดับการขายปลีกก็เช่นกัน บรรจุภัณฑ์ก็ต้องมีขนาดรูปร่างที่ลงตัว (Fitness Size) ง่ายและสะดวกต่อการเรียงซ้อนกันในชั้นวางของหรือจัดแสดงโชว์ (Easy to Stack and Display) ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยพบเห็นบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปสามเหลี่ยมหรือลักษณะพิเศษเฉพาะในร้านขายของชำ (Grocery Store) มากนัก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคนั้นเป็นการอำนวยความสะดวกในแง่ของการนำไปใช้สอยตาหน้าที่ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามประเภทการใช้งานและการเก็บรักษาเมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภค ผู้ออกแบบจึงต้องออกแบบให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมและสรีระร่างกายของมนุษย์ เช่นมีขนาดเหมาะมือ สะดวกต่อการจับ ถือ หิ้ว มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาวะการใช้งาน เป็นต้น

4. การดึงดูดความสนใจผู้บริโภค (Consumer Appeal) การที่บรรจุภัณฑ์จะสามารถดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้ดีนั้น เป็นผลมาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่าง อาทิ ขนาด รูปร่าง รูปทรง สี วัสดุ ข้อความตัวอักษรบอกวิธีการใช้ ฯลฯ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดก็คือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสนใจของผู้บริโภคนั่นเอง ผู้ออกแบบจะต้องสร้าง สิ่งที่ประกอบเป็นรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์นี้ให้เกิดประสิทธิภาพทางการสื่อสารและเกิดผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค (To Fit the Consumer Needs) เช่น

4.1 ออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ที่มีหลายขนาด เพราะผู้บริโภคมีความต้องการ ขนาด ปริมาณ ตลอดจนงบประมาณการซื้อที่แตกต่างกัน

4.2 การใช้สีบนบรรจุภัณฑ์ ที่ให้ความรู้สึกสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ที่ห่อหุ้มอยู่ภายใน เช่น ใช้สีแดง ชมพู เขียว ฟ้า กับบรรจุภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง หรืออาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้รู้สึกสดใจ น่ากิน น่าใช้ เป็นต้น

4.3 การใช้รูปร่าง รูปทรงบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับมโนทัศน์เฉพาะกรณี เทศกาล โอกาส เพศและวัย ให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกร่วมสมัย (Contemporary Period) ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจผู้บริโภคด้วยเช่นกัน เช่น เทศกาลวันแห่งความรัก วันปีใหม่ ฯลฯ ซึ่งบรรจุภัณฑ์จะแสดงตัวให้ผู้บริโภคทราบว่าควรจะนำไปใช้ในโอกาสหรือกรณีใดจึงจะเหมาะสม

บางกรณีบรรจุภัณฑ์อาจจะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคด้วยการเอื้ออำนวยความ สะดวกสบายในการนำไปใช้และให้ความรู้สึกคุ้มค่ากับเงินตราที่จ่ายออกไป เช่น การรวมผลิตภัณฑ์ขายเป็นชุดหรือหน่วยบรรจุรวม (Unit Packaging) เป็น 2, 4 , 6, 8, 12 หรืออาจมากกว่า ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกสะดวกในการขนถ่าย ประทับใจในวัสดุและการออกแบบ โดยเฉพาะเกิดความรู้สึกว่ามีราคาถูกลง เมื่อเทียบราคาต่อหน่วยบรรจุ บางครั้งอาจจะสร้างบรรจุภัณฑ์ให้สามารถแปลงหน้าที่เป็นภาชนะบรรจุอย่างอื่นเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ภายในหมดไปแล้วได้อีก สร้างความรู้สึกต่อผู้บริโภคว่าได้ของแถม ( Premium ) ที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้นมากลยุทธและวิธีการดังที่กล่าวมาแล้ว จึงนับว่าเป็นสิ่งที่บรรจุภัณฑ์ได้กระทำหน้าที่ดึงดูดความสนใจให้เกิดพฤติกรรม การซื้อ การขาย การนำไปใช้ อันจะนำมาซึ่งวัฏจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจอีกต่อไป

5. การเศรษฐกิจ (Economy) บรรจุภัณฑ์ มีบทบาทและหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นองค์ประกอบร่วมในการกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์เพราะถือว่าเป็นต้นทุนการผลิต (Production Cost) อีกอันหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกำไรแก่ผู้ผลิต เกิดการว่าจ้าง เกิดการใช้แรงงาน ตลอดจนต้องมีการใช้ทรัพยากรและค่าใช้จ่ายต่างๆ มาสร้างให้บรรจุภัณฑ์สามารถมีบทบาทและหน้าที่ 4 ประการดังที่กล่าวมา ปัจจัยหลักต่างๆที่มีผลต่อราคาของบรรจุภัณฑ์ นั้นๆก็ได้แก่ ค่าใช้จ่ายของวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Cost of Packaging Materials) ค่าใช้จ่ายของกรรมวิธีการผลิตบรรจุภัณฑ์ (Cost of Manufacturing the Package) ค่าใช้จ่ายของการเก็บรักษาและการขนส่ง (Cost of Storage and Shipping) ค่าใช้จ่ายของเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตและการบรรจุภัณฑ์ (Cost of Equiptment Used to Manufacture and Fill Package) ค่าใช้จ่ายของการใช้แรงงานที่เกี่ยวข้อง (Cost of Associated Labor) เป็นต้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ มิใช่เพียงแต่มีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนไปอย่างครบวงจร ซึ่งอาจจะดีขึ้นหรือตกต่ำลงก็เป็นได้ ดังนั้นบรรจุภัณฑ์จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ความก้าวหน้าทางวิชาการ เทคโนโลยี วิธีการดำเนินชีวิต ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของมวลมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยได้ดีอีกด้วย